ภาษีมูลค่าเพิ่ม เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ประกอบกิจการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ประกอบกิจการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าเป็นปกติธุระ
ซึ่งหมายถึงมีการขายสินค้า/บริการ ตามทางการค้าเป็นปกติ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อกรมสรรพากร
มิเช่นนั้นก็จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งถือว่าเป็นความผิดและอาจต้องถูกค่าปรับเพิ่มเติม
ใคร? ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องมีการจดทะเบียนสำหรับผู้มีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจทางการค้าที่มีรายรับจากการขายสินค้า/บริการนั้น ๆ โดยมียอดขายสินค้า/บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียน
ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกินตามที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ยังมีผู้มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
1. ผู้ประกอบกิจการที่มีแผนการดำเนินงานในอนาคต ที่มีแผนงานจากการดำเนินการซึ่งเป็นขั้นตอนของแผนการเตรียมการดำเนินกิจการ โดยทำให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่ต้องอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย เช่น การก่อสร้างโรงงานเพื่อเตรียมเปิดกิจการ การก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักรในโรงงานเพื่อการดำเนินการตามแผนของการผลิตนั้น ๆ เป็นต้น โดยให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภายในกำหนด 6 เดือน ก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ เว้นแต่มีสัญญาหรือหลักฐานจะดำเนินการก่อสร้าง ภายในเวลาที่เหมาะสม
2. ผู้ประกอบกิจการที่ได้ดำเนินกิจการอยู่นอกราชอาณาจักรหรือนอกประเทศไทย ดำเนินกิจการในต่างประเทศ แต่ได้มีการขาย/จำหน่าย สินค้า/บริการ ในประเทศไทย โดยมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการขายหรือจำหน่ายแทน ในกรณีนี้ตัวแทนผู้ดำเนินการจำหน่ายสินค้า/บริการแทนนั้น มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่ยังคงมีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งหมายถึง กฎหมายมีการยกเว้นไม่ต้องมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่หากผู้ประกอบการนั้นต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ ได้แก่
1. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
2. ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
3.ผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งโดยท่าอากาศยาน
4. การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5. การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
ผู้ประกอบการเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากต้องการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอแจ้งใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 01.1 จำนวน 1 ชุด 3 ฉบับ พร้อมกับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 01 ได้ที่กรมสรรพากร
ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1. ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
2. ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
3. ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
4. ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ( ฉบับที่ 43) ฯ ลงวันที่ 29 มกราคม พ . ศ . 2536 ซึ่งจะต่างจากผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร แต่มีตัวแทนนำสินค้า/บริการเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย กรณีนี้จะเข้าเงื่อนไขต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
5. ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร โดยผู้ประกอบกิจการประเภทนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ตามที่อธิบดีมีประกาศกำหนดออกมาเมื่อมีเหตุอันสมควรตามสถานการณ์
บริษัท สำนักงานบัญชี พีทูพี จำกัด
โทรศัพท์ : 097 236 2994
ไอดีไลน์ : p2pacc
https://www.p2paccounting.com/home
www.p2paccounting.blogspot.com
www.facebook.com/p2paccounting