สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เมื่อขายของออนไลน์

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เมื่อขายของออนไลน์

   เรื่องน่ารู้ของร้านค้าออนไลน์มือใหม่ นอกจากจะต้องหาสินค้า แต่งรูป ไลฟ์สด เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของร้านแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องสนใจและควรให้ความสำคัญ นั่นก็คือ ภาษีขายของออนไลน์ ภาษีที่เกิดจากรายได้ทางออนไลน์หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดทั้งสิ้น โดยภาษีของการขายของออนไลน์ นับเป็นภาษีเงินได้ ถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการค้าขาย

   สำหรับผู้มีรายได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และนำยอดขายในแต่ละเดือน ยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากยื่นออนไลน์สามารถยื่นได้อีก 8 วัน คือภายในวันที่ 23 ของทุกเดือน

ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ควรรู้กฎหมาย E-PAYMENT

   เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ให้แก่กรมสรรพากรโดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากร คือ มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน หรือมีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และจำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท

   ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ถ้าหากมีเงินเข้าบัญชีตามเงื่อนไขดังที่กล่าวไปแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ในทางกฎหมาย ซึ่งร้านค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับข้อมูลรายได้ที่อาจถูกธนาคารส่งให้กับสรรพากรด้วย

ควรแยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีธุรกิจออกจากกัน

   ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ควรใช้บัญชีส่วนตัวร่วมกับบัญชีธุรกิจเนื่องจากจะไม่เห็นผลประกอบการที่แท้จริงหรือสรรพากรตรวจเอกสารจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและอาจต้องเสียภาษีสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ควรขอใบกำกับภาษีทุกครั้ง

   ในการค้าขายออนไลน์ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อมีการซื้อมาขายไป ต้องขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีทุกครั้ง และเก็บเอกสารให้ครบถ้วนเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นสรรพากร หรือเมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบ ก็สามารถแสดงหลักฐานต่างๆ ได้ครบตามที่ยื่นภาษีไป 

   ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องรวบรวมเอกสารทั้งรายรับและรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ครบ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีใบรับรองหัก ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นการป้องกันตัวเองจากการถูกตรวจสอบย้อนหลัง

   มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำบัญชี ไม่มีการวางแผนภาษี และเข้าเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษีและมีรายได้ถึงเกณฑ์ แต่ไม่ได้เสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด จึงถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นเงินจำนวนมาก กรมสรรพากรสามารถเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้มากถึง 10 ปีตามมาตรา 193/31 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียก โดยอายุความจะนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการยื่นแบบภาษี 

   

   กล่าวโดยสรุป ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัววางแผนเพื่อรับมือกับภาษีจากรายได้จากช่องทางออนไลน์ ที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ เพื่อป้องกันภาระภาษีทั้งค่าปรับ และเงินเพิ่มกรณียื่นภาษีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางส่วนมักจะจะมีความเชื่อผิดๆ ว่าการทำบัญชีให้ถูกต้องจะทำให้ต้องเสียภาษีอย่างแน่นอนซึ่งเป็นภาระของกิจการ ถ้าไม่ทำบัญชีก็จะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีใครหนีภาษีพ้น 

   ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีนักบัญชีช่วยทำบัญชีและวางแผนภาษี นอกจากจะไม่โดนภาษีย้อนหลังแล้ว ยังอาจจะไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

ที่มาของข้อมูล

https://www.posttoday.com/columnist/695843

https://deeple.ai/blog/tax-for-online-sellers

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

Preloader

กำลังประมวลผลข้อมูล กรุณารอสักครู่