อัพเดท ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัท ภายในวันเดียว - มี 2 คนก็จดบริษัทได้แล้ว*
จดทะเบียนบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นกี่คน?
[ UPDATE ! ] *ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2566 ในการตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้น (ผู้เริ่มก่อการ) ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
อ้างอิง มาตรา 1097 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565
เดิม ก่อนวันที่ 7 ก.พ. 2566 ในการตั้งบริษัทจำกัด จะต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป แต่กฎหมายใหม่เริ่มบังคับใช้ 7 ก.พ. 2566 ลดจำนวนขั้นต่ำเหลือ 2 คนก็สามารถจดบริษัทได้แล้ว
สำหรับการจดทะเบียนบริษัทคนเดียว ณ ต้นปี 2566 ร่างพระราชบัญญัติบริษัทจำกัดคนเดียว ยังคงเป็นร่างอยู่ ยังไม่บังคับใช้
จดทะเบียนบริษัทต้องมีกรรมการกี่คน?
ในการตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะต้องมีกรรมการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
กรรมการบริษัท คือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้น เพื่อดำเนินงานในฐานะตัวแทนและมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ตามอำนาจกรรมการที่ผู้ถือหุ้นได้แต่งตั้งไว้
กรรมการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท
ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเท่าไหร่?
ทุนจดทะเบียน มูลค่าหุ้นขั้นต่ำคือหุ้นละ 5 บาท/หุ้น และจำนวนหุ้นขั้นต่ำคือ 2 หุ้น (เริ่ม 7 ก.พ.2566 ผู้ถือหุ้นขั้นต่ำ 2 คน คนละ 1 หุ้น) ดังนั้นทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ คือ 10 บาท
ทุนชำระแล้ว ตามกฎหมายขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 25% ของมูลค่าทุนจดทะเบียน เช่น หากทุนจดทะเบียนคือ 1 ล้านบาท ทุนชำระแล้วต้องไม่น้อยกว่า 250,000 บาท
ไม่มีการชำระค่าหุ้นจริง ตามที่แจ้งทุนชำระแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?
หากแจ้งว่ามีทุนชำระแล้ว แต่ไม่มีการชำระค่าหุ้นจริง ทำให้บัญชีของบริษัทไม่มีเงินสดตามจำนวนทุนชำระแล้ว
ในทางบัญชีจะถือว่า บริษัทได้รับเงินจากผู้ถือหุ้นมาแล้ว แล้วนำเงินนั้นให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นกู้ยืมเงินออกไป ส่งผลให้เกิด "เงินให้กู้ยืม" ขึ้นในบัญชีของบริษัท และทำให้เกิดภาระหน้าที่ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยรับตามมา โดยในทางภาษี การให้กู้ยืมเงินต้องคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าอัตราตลาด และดอกเบี้ยรับจะถือเป็นรายได้ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ
ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัท ภายในวันเดียว
ปัจจุบันการจดทะเบียนบริษัทสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก เพราะเราสามารถจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนตั้งบริษัทพร้อมกันภายในวันเดียวได้แล้ว
ที่มารูปภาพ: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
1. ตรวจสอบและจองชื่อบริษัท
เงื่อนไขการตั้งชื่อบริษัทคือ
- ต้องไม่เหมือน คล้าย หรือซ้ำกับนิติบุคคลอื่น
- ต้องมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่มีความหมายหรือเสียงเรียกขานตรงกับชื่อภาษาไทย
คุณสามารถตรวจสอบชื่อและจองชื่อบริษัทได้เองผ่าน ระบบจองชื่อนิติบุคคล ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากชื่อผ่านการอนุมัติ ชื่อที่จองได้ จะต้องใช้จดทะเบียนหนังสือบริคณสนธิภายใน 30วัน
โดยการจองชื่อบริษัทผ่าน ระบบจองชื่อนิติบุคคล นี้จะใช้เฉพาะกับการยื่นจดทะเบียนที่ที่ทำการของกรมพัฒน์ฯ (แบบกระดาษ) เท่านั้น
หากต้องการยื่นจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบ e-Registration (ออนไลน์) สามารถเข้าไปตรวจสอบชื่อไว้ก่อนได้ ว่าไม่เหมือนหรือคล้ายกับนิติบุคคลอื่น แต่ไม่จำเป็นต้องทำการจองชื่อในขั้นตอนนี้ โดยให้ไปทำพร้อมกับ ขั้นตอนที่ 3 การยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบ e-Registration (ออนไลน์) ได้เลย แต่หากต้องการจองชื่อบริษัทเอาไว้ก่อน แล้วค่อยยกเลิกภายหลัง ก็สามารถทำได้เช่นกัน
2. เตรียมข้อมูลและเอกสารเพื่อใช้ในการจดทะเบียนบริษัท
ข้อมูลที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนบริษัท
- ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้)
- ที่ตั้งสํานักงาน พร้อมเลขรหัสประจําบ้าน
- E-mail, หมายเลขโทรศัพท์
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน จะต้องแบ่งเป็นหุ้นๆ มีมูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน (ไม่ต่ำกว่า 5 บาท/หุ้น)
- จํานวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชําระแล้ว อย่างน้อยร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน
- ข้อมูลผู้ถือหุ้น: ชื่อ ที่อยู่ อายุ หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัตรประชาชน หรือบัตรอื่นๆ (กรณีเป็นชาวต่างชาติ) อาชีพ และจํานวนหุ้น
- ข้อมูลกรรมการ: ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัตรประชาชน
- รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอํานาจลงชื่อแทนบริษัท (อํานาจกรรมการ)
- ข้อมูลผู้สอบบัญชีรับอนุญาต: ชื่อ เลขทะเบียน ค่าตอบแทน
- ตราประทับ (มี/ไม่มี ก็ได้)
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- ข้อมูลพยาน 2 คน: ชื่อ ที่อยู่ อายุ หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัตรประชาชน
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนบริษัท
- ใบแจ้งผลการจองชื่อนิติบุคคลที่ยังไม่หมดอายุ
- สําเนาบัตรประจําตัวของผู้เริ่มก่อการทุกคน
- สําเนาบัตรประจําตัวของกรรมการทุกคน
- แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานใหญ่โดยสังเขป
- สัญญาเช่า หรือ หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ หากไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบอํานาจ (หากไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง)
แบบฟอร์มที่ต้องกรอกในการจดทะเบียนบริษัท
- คําขอจดทะเบียนบริษัทจํากัด (แบบ บอจ.1)
- แบบคํารับรองการจดทะเบียนบริษัทจํากัด
- หนังสือบริคณห์สนธิ (แบบ บอจ.2) ชําระค่าอากรแสตมป์ 200 บาท
- รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)
- แบบวัตถุที่ประสงค์ (แบบ ว.)
- รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)
- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)
- สําเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
- สําเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้น
สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการจดทะเบียนบริษัท ได้ที่นี่
และดูตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มการจดทะเบียนบริษัท ได้ที่นี่
หมายเหตุ: สำหรับการยื่นจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบ e-Registration (ออนไลน์) สามารถเข้าไปกรอกในระบบออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องปริ้นท์แบบฟอร์มออกมาแต่อย่างใด
3. ยื่นคำขอจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียม
หลังจากที่ข้อมูลและเอกสารต่างๆพร้อม สามารถนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทได้ที่
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ
- จดทะเบียนบริษัทออนไลน์ ผ่านระบบ DBD e-Registration
เมื่อนายทะเบียนอนุมัติการจดทะเบียนแล้ว บริษัทจะได้รับ "ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท" เป็นหลักฐานการจดทะเบียน และบริษัทสามารถขอ "หนังสือรับรองบริษัท" เพื่อใช้เป็นเอกสารในการทำธุรกรรมต่างๆในนามบริษัทได้
ต้องการผู้ช่วยดำเนินการจดทะเบียนบริษัท?
จากขั้นตอนข้างต้น จะพบว่าในการจดทะเบียนบริษัทต้องเตรียมเอกสารและกรอกแบบฟอร์มต่างๆมากมาย เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ผู้ประกอบการสามารถจ้างให้สำนักงานบัญชีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ โดยคุณสามารถหาสำนักงานบัญชีในจังหวัดคุณได้ง่ายๆเพียง
- เข้าไปที่ลิงค์นี้
- ระบุจังหวัดของคุณ > กคลิกปุ่มค้นหา
- จะพบรายชื่อสำนักงานบัญชีและนักบัญชีอิสระที่ให้บริการพื้นที่จังหวัดของคุณมากมาย
เลือกสรรนักบัญชีที่โดนใจคุณ แล้วติดต่อให้ช่วยดำเนินการจดทะเบียนบริษัทให้คุณได้เลย
หรือจะให้ทำบัญชี รายเดือน / รายปี ต่อด้วยก็เป็นได้ :)
Accounting Center เว็บไซต์รวมนักบัญชี สำนักงานบัญชี เพื่อให้ผู้ประกอบการค้นหานักบัญชีได้ง่ายๆ
-----
ที่มาข้อมูล: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า