ภาษี e-Service คืออะไร? ใครต้องจ่ายบ้าง? ยิงแอดต้องจ่าย VAT เพิ่มหรือไม่?
ภาษี e-service คืออะไร
กฎหมาย e-Service กำหนดผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ถ้ามีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทจากผู้ใช้บริการในไทย จะต้องนำส่ง VAT ให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันอัตรา VAT คือ 7% โดยกฎหมายภาษี e-Service นี้จะเริ่มมีผลบังคังใช้ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
ข้อดีคือ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแก่ผู้ให้บริการในประกาศ ซึ่งปัจจุบันมีภาระหน้าที่ต้องนำส่ง VAT อยู่แล้ว
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย e-Service
ผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ เช่น บริการโฆษาบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น, บริการดาวน์โหลดหรือเล่นเกม, ฟังเพลง, ดูภาพยนตร์ออนไลน์, ดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ใน Chat Application, สตรีมมิ่ง เป็นต้น จะอยู่ภายใต้กฎหมาย e-Service
ตัวอย่าง แพลตฟอร์มต่างประเทศที่จดทะเบียน e-Service เช่น Facebook, Google, Youtube, Microsoft, McAfee, Zoom, Amazon เป็นต้น
ตรวจสอบรายชื่อเพิ่มเติมได้ที่ https://eservice.rd.go.th/rd-ves-web/search/company
ผู้ใช้บริการต้องทำอะไร ต้องเสียอะไรเพิ่มบ้าง?
สิ่งที่ต้องทำและผลกระทบจะแตกต่างกันระหว่าง
- ผู้ใช้บริการที่จด VAT
- ผู้ใช้บริการที่ไม่จด VAT
1. ผู้ใช้บริการที่จด VAT
สำหรับผู้ใช้บริการที่จด VAT ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล กฎหมาย e-Service จะไม่กระทบคุณมากนัก
สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ แจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับทางแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เช่น Facebook หรือ Google เพื่อให้แพลตฟอร์มรู้ว่าคุณเป็นผู้ประกอบการจดVAT ดังนั้นไม่ต้องเรียกเก็บVATกับคุณ เดี๋ยวคุณทำหน้าที่นำส่ง VAT เอง
เมื่อคุณแจ้ง VAT ID ถูกต้อง ผู้ให้บริการ เช่น Facebook, Google จะไม่เรียกเก็บ VAT จากคุณ คุณจะเสียค่าบริการเท่าเดิม มีหน้าที่นำส่งภ.พ.36 เหมือนเดิม และสามารถนำภาษีซื้อที่นำส่งภ.พ.36 ไปหักยอดภาษีขายได้เหมือนเดิม
สรุปคือ แค่ไปแจ้ง VAT ID กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ แล้วที่เหลือทำเหมือนเดิมได้เลย
วิธีแจ้ง VAT ID กับ Facebook
- ไปที่ Payment Settings
- Business Info > กดปุ่ม Edit
- ใส่เลข VAT ID
วิธีแจ้ง VAT ID กับ Google Ads
- ไปที่ Tools & Settings
- Settings
- Payments profile > Thailand tax info > ใส่เลข Thai VAT ID
2. ผู้ใช้บริการที่ไม่จด VAT
สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จด VAT ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป มีโอกาสสูงที่ผู้ให้บริการต่างประเทศ เช่น Facebook, Google, Tiktok, Netflix, Line เป็นต้น จะผลักภาระมาที่ผู้ใช้บริการ โดยการเรียกเก็บ VAT 7% เพิ่มจากผู้ใช้บริการ เพื่อนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร
ดังนั้น ถ้าที่ผ่านมาคุณไม่เคยนำส่ง VAT ตามแบบภ.พ.36 มาก่อนเลย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ต้นทุนในการใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ค่ายิงแอดโฆษณา Facebook, ค่าซื้อโฆษณา Google Ads, ค่า Subscription แพลตฟอร์มต่างประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นทันที 7%!!
ตัวอย่าง ถ้าเดิมคุณเคยเสียค่าแอดโฆษณา Facebook 100 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป คุณจะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 107 บาท
ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น 7% นี่ค่อนข้างสำคัญต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ไม่จด VAT จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที ทำให้กำไรลดลงทันที และไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้เพราะคุณไม่ได้จดVAT ดังนั้นในการตั้งราคาขายต้องไม่ลืมพิจารณา VAT 7% ที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มนี้เป็นต้นทุนด้วยนะคะ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rd.go.th/fileadmin/download/eService.pdf
กรมสรรพากรตอบเอง Q&A คลายข้อสงสัยภาษี e-Service
ที่มาข้อมูล: กรมสรรพากร