บอกเล่า...เรื่องใบกำกับภาษี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หมายถึง ภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นรายเดือน
ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะประกอบไปด้วยผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ ผู้ขาย โดยจะมีเอกสารหลักฐานสำคัญที่ผู้ขายจะต้องจัดทำให้กับผู้ซื้อทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายเก็บจากผู้ซื้อในแต่ละครั้ง เอกสารนี้เรียกว่า "ใบกำกับภาษี" (Tax invoice)
เป็นหน้าที่ของผู้ขายต้องจัดทำให้กับผู้ซื้อ และผู้ซื้อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเครคิตภาษีหรือขอคืนภาษี
ข้อควรคำนึงในการมีและใช้ใบกำกับภาษี
1. ผู้ขายควรออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือบริการ และส่งมอบใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยผู้ขายต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้
- ต้นฉบับ: ผู้ขายส่งมอบให้กับผู้ชื้อสินค้า/ผู้รับบริการ >> ผู้ซื้อใช้เป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีซื้อเพื่อเครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี
- สำเนา: ผู้ขายเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีขาย
2. ผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แต่ผู้ซื้อขอให้จัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปผู้ขายควรออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับผู้ซื้อทันที
3. ผู้ขายจะแก้ใขรายการในใบกำกับภาษี ควรดำเนินการดังนี้
- เรียกคืนต้นฉบับใบกำกับภาษีฉบับเดิมและประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือขีดฆ่าแล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ทั้งชุด)
- ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม
- ใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้หมายเหตุว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิม เลขที่_____เล่มที่________"
4. ผู้ขายมีการแก้ไขชื่อของผู้ซื้อจากบุคคลหนึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ถือเป็นกรณีที่มิได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อที่แท้จริง และหากไม่สามารถพิศูจน์ถึงความมีตัวตนของผู้ซื้อได้ ถือเป็นการออกใบกับกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
5. ผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ที่มิได้มีการซื้อสินค้าหรือบริการจริง เป็นการออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ใบกำกับภาษีปลอม
"ใบกำกับภาษีที่มิชอบด้วยกฏหมาย" หรือ "ใบกำกับภาษีปลอม" คือ ใบกำกับภาษีที่ทำปลอมขึ้นโดยการปลอมทั้งฉบับ หรือส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วประการใดๆในใบกำกับภาษี ประทับตราปลอม หรือลงลายมือซื่อปลอมในใบกำกับภาษี และยังให้ครอบคลุมถึงใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย และใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
บทลงโทษใบกำกับภาษีปลอม (ด้านผู้ขาย)
- ตามมาตรา 89(6) เป็นการลงโทษทางแพ่ง ระบุไว้ว่า "ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มรสิทธิออก ใหเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้นั้น”
- ตามมาตรา 90/4(3) เป็นการลงโทษทางอาญา ระบุไว้ว่า “ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิออกต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน -7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท- 200,000 บาท"
บทลงโทษใบกำกับภาษีปลอม (ด้านผู้ซื้อ)
- มาตรา 89(7) เป็นการลงโทษทางแพ่งระบุไว้ว่า “ผู้นำใบกำกับภาษีปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ให้เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ซื้อไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม”
- มาตรา 90/4(7) เป็นการลงโทษทางอาญาระบุว่า "ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฏหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน-7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท"
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก มุมสรรพากร โดย คุณทองกร รัตนพงศ์วิโรจน์ นักวิชาการสรรพากรชำนาญการ