เลิกกิจการ ปิดบริษัท เลิกบริษัท เลิกหจก ต้องทำอย่างไร?
โควิด เงินเฟ้อ พิษเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย ที่แบกรับผลขาดทุนไม่ไหว จนอาจจะต้องปิดกิจการในที่สุดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
ขั้นตอนการเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิกหจก ต้องทำอย่างไรบ้าง?
การเลิกกิจการนั้นไม่ง่ายเหมือนตอนเปิด มีขั้นตอนการจดทะเบียนเลิก-การชำระบัญชีหลายขั้นตอน สำหรับนิติบุคลจะต้องดำเนินการเลิกกิจการให้ถูกต้อง จะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต
การเลิกกิจการจะต้องไปดำเนินการทั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งก่อนจะไปแจ้งเลิกกับหน่วยงานต่างๆดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการดังนี้
1. การเลิก และขอจดทะเบียนเลิกบริษัท
ผู้ประกอบการนิติบุคคลที่จะเลิกกิจการ กรณีที่เกิดจากความประสงค์ของผู้ถือหุ้นเอง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด โดยจัดให้มีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เพื่อลงมติเลิกกิจการ จึงจะสามารถไปยื่นจดทะเบียนเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ขั้นตอนที่จะเลิกและการจดทะเบียนเลิกมีดังนี้
- เมื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการตกลงกันเลิกบริษัท ต้องออกหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท ซึ่งการออกหนังสือดังกล่าวจะต้องทำก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยจะต้องพิมพ์โฆษราในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 คราว และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
- จัดประจำผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นจะต้องมีมติพิเศษให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุม และต้องมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีด้วย
- หลังจากจัดประชุมเสร็จแล้วจะต้องประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้ง และส่งหนังสือบอกกล่าวเจ้าหนี้ (ถ้ามี) ภายใน 14 วัน นับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
- แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี
- ผู้ชำระบัญชียื่นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
2. การชำระบัญชี และขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
เมื่อเลิกกิจการ อยู่ระหว่างชำระบัญชี บริษัทยังมีหน้าที่ดังนี้
- จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท หรือวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิก โดยให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นว่าถูกต้อง
- นัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อยืนยันตัวตนผู้ชำระบัญชีและอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิก โดยต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 7 วันก่อนประชุมและส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
- จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยในวันประชุมต้องมีมติในการอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการและอนุมัติการชำระบัญชี
- ผู้ชำระบัญชีชำระสะสางทรัพย์สินและเป็นหนี้สินของบริษัทถ้ามีทรัพย์สินให้จำหน่าย มีลูกหนี้ให้เรียกเก็บเงินลูกหนี้ ชำระหนี้สิน และจ่ายค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีของบริษ้ท หากมีเงินคงเหลือให้คืนทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือหุ้นหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
- ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
- ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อมีมติอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
- ผู้ชำระบัญชีจัดการทำคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับจากมีมติเสร็จการชำระบัญชี
หน่วยงานที่ต้องไปติดต่อ มีดังนี้
1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
มี 2 ขั้นตอน
- จดทะเบียนเลิก ซึ่งจะจะได้รับหนังสือรับรองจดทะเบียนเลิกกิจการ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินการแจ้งเลิกอีก 2 หน่วยงานคือ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม
- จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี หากไม่สามารถชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันเลิกให้ผู้ชำระบัญชียื่นรายงานการชำระบัญชี (แบบ ลช.3) ทุก 3 เดือน
2. กรมสรรพากร
หลังจดทะเบียนเลิกที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากบริษัทเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องไปดำเนินการแจ้งเลิกกิจการที่กรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้จดทะเบียนเลิกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อคืนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหลักฐานอื่น และยื่นแบบภาษีต่างๆ ตลอดจนนำส่งงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการ ดังนี้
- นำส่งแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการภายใน 150 วัน นับจากวันที่จดทะเบียนเลิก
- นำส่งแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.3, 53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่จดทะเบียนเลิกให้ครบถ้วน เช่น การหัก ณ ที่จ่าย ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น
- นำส่งแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40 ) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกในกรณีที่มีบัญชีดอกเบื้ยค้างรับ หรือดอกเบี้ยในงบการเงิน
- ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” จากกรมสรรพากร
3. สำนักงานประกันสังคม
กรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างต้องทำหนังสือแจ้งพนักงานที่จะเลิกจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และจ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานในอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้แจ้งเลิกกิจการโดยยื่นแบบการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส.6-15) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง ณ สำนักงานประกันสังคมที่สถานประกอบตั้งอยู่
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก มุมสรรพากร โดย คุณณัฏฐพัชร ธนากิจดุลยวัต เจ้าหน้าที่พนักงานสรรพากรชำนาญการ