ขายของออนไลน์, Live สดขายของ ต้องเสียภาษีอย่างไร? เท่าไหร่?
หลักสำคัญของภาษีเงินได้ คือ เมื่อมีรายได้ ต้องเสียภาษี
การค้าขาย แม้จะไม่ได้เปิดบริษัท แม้จะไม่มีหน้าร้าน แค่ขายออนไลน์ ขายในนามบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะขายผ่าน Facebook, Live สด, Shopee, Lazada หรือช่องทางอื่นๆ ก็ถือเป็นเงินได้มาตรา 40(8) ที่ต้องเสียภาษีเงินได้
ดังนั้น ถ้ามีรายได้จากการขายของออนไลน์ถึงเกณฑ์จะต้องยื่นแบบภาษีด้วยนะคะ ส่วนจะต้องจ่ายภาษีจำนวนเท่าใด หรือ สุดท้ายคำนวณแล้วไม่ต้องจ่ายภาษีเลย ก็ขึ้นกับว่าแต่ละท่านมีเงินได้สุทธิ (คือ รายได้ หัก ค่าใช้จ่าย หัก ค่าลดหย่อน) มากน้อยขนาดไหน
แอบบอก ด้านล่าง เราจะมีทำตารางคำนวณภาษีเบื้องต้นให้ค่ะ ว่าถ้ามีรายได้ x,xxx,xxx บาท พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่กันนะ
ขายของออนไลน์ รายได้เท่าไหร่ ถึงจะต้องยื่นแบบภาษี ?
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดา ถ้ามีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำด้านล่างนี้ จะต้องยื่นแบบภาษี
- คนโสด มีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี จะต้องยื่นแบบภาษี
- คนมีคู่สมรส ไม่ว่าจะมีรายได้ฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท จะต้องยื่นแบบภาษี
ใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำนี้ อย่าลืมยื่นแบบภาษีกันนะคะ ตอนนี้มีกฎหมายให้ธนาคารส่งข้อมูลเงินเข้าบัญชีให้กรมสรรพากร ถ้าคุณขายดี มีเงินโอนเข้าบัญชีถึงเกณฑ์ กรมสรรพากรเค้าได้รับรายงานตัวเลขเงินเข้าบัญชีจากธนาคารไปแล้วนะค้า ><
คำนวณภาษีเงินได้จากการขายของออนไลน์อย่างไร ?
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับพ่อค้าแม่ค้า คือ
ภาษีที่ต้องเสีย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
เงินได้สุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
- รายได้คือ รายได้รวมจากทุกช่องทาง ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ ไม่ว่าจะจากการขายบน Facebook, Live สด, Line หรือ แพลตฟอร์มอย่าง Shoppee, Lazada
- การหักค่าใช้จ่าย เลือกทำได้ 2 วิธีคือ 1) หักอัตราเหมา 60% หรือ 2) หักค่าใช้จ่ายตามจริง
- การหักค่าลดหย่อนจะเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด ว่ามีอะไรลดหย่อนได้เท่าไหร่บ้าง
- อัตราภาษีบุคคลธรรมดา อยู่ที่ 5 – 35% เป็นอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งเงินได้สุทธิสูง ยิ่งเสียภาษีอัตราสูง
ตัวอย่างตารางคำนวณภาษี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์บุคคลธรรมดา
คำถามยอดฮิตคือ ถ้ามีรายได้ x,xxx,xxx บาท จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่?
วันนี้เราจึงทำตารางคำนวณภาษีเบื้องต้นมาให้ดูกัน เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ร้านค้าออนไลน์ ที่ขายของในนามบุคคลธรรมดา (คือไม่ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) สามารถประเมิณตนเองเบื้องต้นได้ว่า ถ้ามีรายได้แต่ละขั้น จะต้องเสียภาษีกี่บาท
การคำนวณนี้ ใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% และหักค่าลดหย่อนเพียงแค่ลดส่วนตัว 60,000 บาท
รายได้ | ค่าใช้จ่าย | ลดหย่อน | เงินได้สุทธิ | ภาษี |
500,000 | (300,000) | (60,000) | 140,000 | - |
750,000 | (450,000) | (60,000) | 240,000 | 4,500 |
1,000,000 | (600,000) | (60,000) | 340,000 | 11,500 |
1,500,000 | (900,000) | (60,000) | 540,000 | 33,500 |
2,000,000 | (1,200,000) | (60,000) | 740,000 | 63,500 |
2,500,000 | (1,500,000) | (60,000) | 940,000 | 103,000 |
3,000,000 | (1,800,000) | (60,000) | 1,140,000 | 150,000 |
4,000,000 | (2,400,000) | (60,000) | 1,540,000 | 250,000 |
5,000,000 | (3,000,000) | (60,000) | 1,940,000 | 350,000 |
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะประหยัดภาษี ได้อย่างไรบ้าง ?
บางท่านเห็นยอดภาษีในตารางข้างบนแล้วกลุ้มใจ ต้องทำยังไงถึงจะลดยอดภาษีลงมาได้บ้าง เพราะจริงๆ แล้วขายของมีต้นทุนสูงกว่า 60%
วิธีที่พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ จะสามารถประหยัดลดภาษีลงมาได้ในเบื้องต้นทำได้ 2 วิธีด้วยกัน
1. เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%
โดยพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการจะหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้อง
- จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย
- เก็บเอกสารประกอบการจ่ายค่าใช้จ่าย เช่น ต้นทุนสินค้า ค่าขนส่ง ค่าเช่า ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าโฆษณา หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายต่างๆ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายจริง, ใครเป็นผู้รับ และเกี่ยวข้องกับกิจการ
2. ใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆเพิ่มเติม
เช่น ลดหย่อนบุตร ลดหย่อนประกันชีวิต ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน เป็นต้น
ถ้าคุณไม่มีเวลา ไม่อยากปวดหัว กับการจัดทำรายงานส่งสรรพากร
คุณสามารถว่าจ้างให้นักบัญชีจัดการให้คุณได้ หรือจะให้ช่วยวางแผนภาษีให้ด้วยก็เป็นได้
คลิกที่นี่ เพื่อค้นหา นักบัญชีจังหวัด/เขตคุณ ได้ง่ายๆ
Accounting Center ได้รวบรวมนักบัญชีมากมายมาให้คุณเลือกสรร
#สะดวก #ง่าย #ลดเวลาตามหา
ขายของออนไลน์ถึงกำหนดจ่ายภาษีเมื่อไหร่ ?
รายได้จากการค้าขาย ไม่ว่าจะผ่านหน้าร้าน หรือผ่านการขายออนไลน์ ถือเป็นรายได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ 40(8) จะมีภาระในการยื่นนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้งดังนี้
- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) กำหนดยื่นตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ของปีนั้นๆ
- ภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90) กำหนดยื่นตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของปีถัดไป
การไม่ยื่นแบบภาษีต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท อย่าลืม!! ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ถ้ามีรายได้จากการขายทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท (นับตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.) พ่อค้าแม่ค้าจะต้องไม่ลืมไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่ง VAT ให้กรมสรรพากรด้วยนะคะ
อย่าชะล่าใจไปค่ะ เพราะอย่างที่บอกไปกรมสรรพากรเค้าได้รับรายงานเงินเข้าบัญชีจากธนาคารแล้ว มีตัวเลขอยู่แล้ว และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น บอกเลยว่าเป็นภาษีที่มีเบี้ยปรับที่ค่อนข้างสูงงงง
สรุปสิ่งที่ร้านค้าขายของออนไลน์ต้องทำเมื่อมีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี คือ
-
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน เมื่อเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท
-
ทุกครั้งที่ขายจะต้องออกใบกำกับภาษี และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากลูกค้า เพื่อนำส่งกรมสรรพากร
-
ถึงแม้ลูกค้าไม่อยากได้ใบกำกับภาษี ผู้ขายก็ต้องออกใบกำกับภาษี
-
ทุกเดือน จะต้องจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบภาษี ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ดังนั้น เวลาตั้งราคาขาย ต้องไม่ลืมนำภาษีไปคิดรวมเป็นต้นทุนด้วย เพื่อให้ยังเหลือกำไร หลังจ่ายภาษีแล้ว
ค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ของภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)
1. โทษทางอาญา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)
- กรณียื่นแบบเกินกำหนด แต่ไม่เกิน 7 วัน ค่าปรับ 300 บาท
- กรณียื่นแบบเกินกำหนด และเกิน 7 วัน ค่าปรับ 500 บาท
2. เบี้ยปรับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)
- กรณีไม่ได้ยื่นแบบ ภพ.30 มาก่อน ค่าเบี้ยปรับจะ x 2 เท่า
ชำระภายใน | ค่าเบี้ยปรับ |
1-15 วัน | 2% x 2 เท่า |
16-30 วัน | 5% x 2 เท่า |
31-60 วัน | 10% x 2 เท่า |
หลัง 60 วัน | 20% x 2 เท่า |
- กรณียื่นแบบเพิ่มเติม (เคยยื่นแบบ ภพ.30 มาก่อน)
ชำระภายใน | ค่าเบี้ยปรับ |
1-15 วัน | 2% |
16-30 วัน | 5% |
31-60 วัน | 10% |
หลัง 60 วัน | 20% |
3. เงินเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30)
- เสียเงินเพิ่มอัตรา 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องชำระ (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน)
- ถ้าไม่มียอดภาษีที่ต้องชำระ ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จะเสียแค่ค่าปรับอาญากรณีที่ไม่ยื่นแบบเท่านั้น
ต้องการนักบัญชี ดูแลจัดการภาษี?
ให้งานบัญชีเป็นหน้าที่ของนักบัญชี....
คุณสามารถหานักบัญชี ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และวางแผนภาษีให้ได้ง่ายๆ
เพียงคลิกที่รูป แล้วเลือกจังหวัดของคุณได้เลย
Accounting Center ได้รวบรวมนักบัญชีมากมายมาให้คุณเลือกสรร
ไม่แน่ใจ จดบริษัท จดหจก ดีหรือไม่?
ขายดี รายได้เยอะ เริ่มสนใจอยากจดทะเบียนนิติบุคคล
คลิก! ที่รูป เพื่อหานักบัญชี รับจดทะเบียนตั้งบริษัท-รับจดทะเบียนตั้งหจก เชิญปรึกษาข้อดีข้อเสียได้เลยค่ะ